โครงการพัฒนาระบบข้อมูลตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดอ่างทอง

ข้อมูลโครงการ

มหาวิทยาลัยราชภัฏน้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งโครงการพัฒนาระบบข้อมูลตำบลในจังหวัด ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาท้องถิ่น ตามแนวทางการพัฒนาของแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โครงการมุ่งเน้นการพัฒนาระบบข้อมูลตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดอ่างทอง มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยการมีส่วนร่วมของคณาจารย์และนักศึกษา มีการนำข้อมูลพื้นฐาน 7 ด้าน (ระดับตำบล) เข้าสู่ระบบข้อมูลตำบลของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยราชภัฏ นำไปสู่การใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ปัญหา วางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมทั้งการรายงานหรือการนำเสนอข้อมูลที่สนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการพัฒนาระบบข้อมูลตำบลในจังหวัด ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยามีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) ในการเก็บข้อมูลพื้นฐาน 7 ด้าน (ระดับตำบล) ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 209 ตำบล และจังหวัดอ่างทอง 73 ตำบล รวมทั้งหมด 282 ตำบล โดยมีการแบ่งการเก็บข้อมูลพื้นฐาน 7 ด้าน (ระดับตำบล) ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เก็บข้อมูล 88 ตำบล ระยะที่ 2 เก็บข้อมูล 85 ตำบล และระยะที่ 3 เก็บข้อมูล 109 ตำบล ดังภาพที่ 1

การลงพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐานของชุมชนนั้น ใช้แบบสอบถามการเก็บข้อมูลชุดพื้นฐาน 7 ด้าน (ระดับตำบล) ได้แก่ ข้อมูลด้านทุนที่แสดงถึงศักยภาพ ของตำบล ข้อมูลด้านการสื่อสาร ข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพ ข้อมูลด้านประชากร ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ข้อมูลด้านเศรษฐกิจชุมชน และข้อมูลด้านการเมืองการปกครอง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ข้อมูลด้านทุนที่แสดงถึงศักยภาพของตำบล เป็นข้อมูลทุนประเภทต่างๆ ที่แสดงถึงศักยภาพของตำบล ประกอบด้วย
    • ข้อมูลทุนที่เป็นบุคคล ได้แก่ ผู้นำภาคประชาชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำที่เป็นบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่
    • ข้อมูลทุนที่เป็นกลุ่มหรือเครือข่าย ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มประชาคม เครือข่าย อสม. เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายอาชีพ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เครือข่ายพระสงฆ์
    • ข้อมูลทุนที่เป็นหน่วยงานหรือองค์กร ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน อบต. หรือเทศบาล รพ. สต. สถานที่สำคัญทางศาสนา
    • ข้อมูลทุนที่เป็นเงินหรือกองทุน ได้แก่ กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านหรือตำบล กองทุนเงินล้าน กองทุน SML กลุ่มออมทรัพย์สหกรณ์ ธนาคารชุมชน
    • ข้อมูลทุนที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งประโยชน์ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ ป่าชุมชน อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ สถานที่เคารพสักการะของชุมชน
    • ข้อมูลทุนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ ป่าไม้ ทะเล ภูเขา แหล่งน้ำ ศิลปวัฒนธรรม เกษตร โบราณสถาน วัด สถานที่ทางศาสนา
  2. ข้อมูลด้านการสื่อสาร ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสื่อสารในชุมชน ซึ่งในกระบวนการประกอบด้วยผู้ให้ข้อมูล ประเภทข้อมูล ช่องทางการสื่อสาร และการใช้ประโยชน์ ซึ่งผู้ให้ข้อมูล แบ่งออกดังนี้
    • ผู้นำภาคประชาชน ได้แก่ แกนนำ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบพิธีกรรม อาสาสมัคร พระหรือผู้นำทางศาสนา
    • ผู้นำท้องที่ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน กรรมการหมู่บ้าน
    • ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ คณะกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น พนักงานส่วนท้องถิ่น ประธานสภาและสมาชิก อบต. หรือเทศบาล
    • ผู้นำที่เป็นบุคลากรของหน่วยงานรัฐ ได้แก่ ครู นักพัฒนาชุมชน แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล
  3. ข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพ เป็นข้อมูลทางด้านสุขภาพจำแนกปัญหาด้านสุขภาพในชุมชน พร้อมระบุจำนวนผู้ป่วย ปัญหาด้านสุขภาพประกอบด้วย
    • ปัญหาสุขภาพและโรคที่พบบ่อย 5 อันดับในพื้นที่ ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา
    • ปัญหาโรคระบาดในพื้นที่ ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา
    • ปัญหาโรคเรื้อรังในพื้นที่
    • การจัดบริการตามปัญหาและความต้องการในพื้นที่ ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา
    • สถานที่หรือแหล่งบริการสุขภาพที่มีในพื้นที่
    • ผู้ให้บริการและดูแลรักษาด้านสุขภาพในพื้นที่ แบ่งออกเป็น ภาควิชาชีพ และภาคประชาชน
  4. ข้อมูลด้านประชากร ประกอบด้วย
    • จำนวนประชากร จำแนกตามช่วงอายุ
    • สถิติการเกิดและการตาย ในรอบ 1 ปี
    • การจัดการศึกษาในชุมชน
    • การอพยพแรงงานเข้ามาทำงานในพื้นที่ ทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว
  5. ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เป็นข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
    • ปัญหาและการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้แก่ ปัญหาขยะ ปัญหามลภาวะ ฝุ่นละอองหรือมลพิษ ปัญหาจุดอันตรายหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด และปัญหาภัยธรรมชาติ
    • ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ยังต้องพัฒนา
    • การจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ
  6. ข้อมูลด้านเศรษฐกิจชุมชน ประกอบด้วย
    • อาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชน
    • การรวมกลุ่มอาชีพของประชาชนในชุมชน
    • แหล่งเงินทุนในการดำเนินงานของกลุ่มอาชีพ ได้แก่ ระดมทุนภายในกลุ่ม กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้าน กองทุนเงินล้าน งบประมาณจากรัฐบาล ธกส. ธนาคารพาณิชย์ หรือเงินกู้นอกระบบ
  7. ข้อมูลด้านการเมืองการปกครอง ประกอบด้วย
    • การมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน
    • การปกครองที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
    • การใช้สิทธิในการเลือกตั้ง
    • สิทธิในการจัดการทรัพยากร

จากข้อมูลจากแบบสอบถามข้อมูลชุดพื้นฐาน 7 ด้าน (ระดับตำบล) ข้างต้น ครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่บริการทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา